4 สารพึงระวังในเครื่องสำอาง

Last updated: 15 ก.พ. 2564  | 

4 สารพึงระวังในเครื่องสำอาง

เริ่มต้นดูฉลาก ต้องรู้ว่า INCI Name คืออะไร ? 

INCI Name ย่อมาจาก International Nomenclature for Cosmetic Ingredients

คือ ระบบฐานข้อมูลชื่อส่วนผสมในเครื่องสำอาง ที่นิยมใช้เป็นมาตรฐานทั่วโลก ซึ่งสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จะต้องมี INCI Name ของตนเอง ใส่ไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจชื่อสารตรงกันกับผู้ผลิต และสามารถอ่านฉลาก เพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบที่ทำให้ผิวตนเองแพ้ง่าย

       ปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ครีมหน้าขาว (Whitening Products) ครีมหน้าขาวนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตในบรรดาสุภาพสตรี เพราะเห็นผลเร็ว ผิวขาวเนียนใสจริง แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น ความขาวใสนี้ จะถูกแทนที่ด้วยอาการข้างเคียง คือ รอยไหม้ดำที่ค่อยๆแผ่วงกว้าง รอยแดง ผื่นแพ้ หน้าบาง ติดเชื้อง่าย ซึ่งใช้เวลาในการรักษานานและในบางรายอาจเป็นถาวร เมื่อผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ อย.จึงเข้ามามีบทบาทในการสืบสวนหาสาเหตุ และได้ประกาศ รายชื่อสารต้องห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อันได้แก่ 

ปรอท
INCI Name : Mercury 

           สารโลหะหนักที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางตั้งแต่ พ.ศ. 2532 มีอันตรายต่อร่างกาย ทำให้ตับ-ไตพิการ และโรคโลหิตจาง มักพบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสรรพคุณลดเลือนจุดด่างดำ ช่วยให้ผิวขาวใส ดังนั้นถ้าเจอเครื่องสำอางที่มี INCI Name นี้ในฉลาก หรือชวนเชื่อด้วยคำโฆษณาเกินจริง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีปรอทผสมอยู่แน่นอน

กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

           สารปรอทที่ใช้อยู่ในรูปของไดวาเลนซ์แคทไอออน [mercuric (II) ion, Hg2+] จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น นอกจากนี้ปรอทยัง มี ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้

           สารประกอบของปรอททำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง และเมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ อีกทั้งในสตรีมีครรภ์ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไปสู่ทารก ทำให้เด็กมีสมองพิการและปัญญาอ่อน

รูปแสดงอาการข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของปรอท ผิวมีลักษณะเป็นรอยด่างขาวและฝ้าถาวร

ไฮโดรควิโนน
INCI Name : Hydroquinone , Hydroquinone Methylether , Hydroquinone Mequinol , p-Hydroxyanisole

           ในปัจจุบันสารไฮโดรควิโนนอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำเล็บเทียมเท่านั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ในเครื่องสำอาง เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบร้อน และถ้าใช้อย่างต่อเนื่อง เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนใหญ่พบในครีมทารักษาฝ้า ครีมลอกหน้าขาว

กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

           ไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส(Tyrosinase)ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี(melanin) เมื่อปริมาณเม็ดสีลดลง จึงส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ จากกลไกนี้ทำให้ยาไฮโดรควิโนนถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาผิวที่เป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำ

ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางที่มีสารไฮโดรควิโนนเกินขนาด

           อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาได้

รูปแสดงอาการข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารไฮโดรควิโนนเกินขนาด มีภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทาและเป็นฝ้าถาวรได้

สเตียรอยด์
INCI Name : Glucocorticoids , Corticosteroids , Betamethasone dipropionate glycol , Clobetasol 17-propionate , Halobetasol propionate , Amcinonide , Betamethasone dipropionate , Desoximetasone , Diflucortolone valerate , Fluocinonide , Halcinonide , Mometasone furoate , Triamcinolone acetonide

           สารอันตรายยอดนิยมในครีมเถื่อนไม่ได้มาตรฐาน สามารถทำให้ผิวหน้าขาวใสได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นสารอันตรายที่มีฤทธิ์รุนแรง และมีผลข้างเคียงต่อผิวในระยะยาว ทำให้โครงสร้างผิวอ่อนแอ ผิวหน้าบาง เกิดเป็นสิวอักเสบ ผิวหนังติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการจะรักษาอาการผิวติดสเตียรอยด์ให้ฟื้นคืนเป็นปกติ ต้องใช้ระยะเวลานานมาก

กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

           เสตียรอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีสื่อกลาง(mediators) เช่น โพรสตาแกรนดิน(prostaglandin) และลิวโคไตรอีน(leukotriene) ที่ใช้ในการการสร้างเม็ดสี (melanin) ทำให้ปริมาณเม็ดสีลดลงส่งผลให้ผิวขาวขึ้น
           สเตียรอยด์เป็นสารที่ห้ามใส่ในเครื่องสำอาง มักใช้เป็นสูตรผสมกับยาตัวอื่น เช่น ไฮโดรควิโนน หรือ เรตินอยด์ในการรักษา ฝ้า กระ และจุดด่างดำ เสตียรอยด์ช่วยในการเสริมฤทธิ์ และช่วยลดอาการข้างเคียงของไฮโดรควิโนน และ เรตินอยด์ ได้ดี

ผลข้างเคียงจากการใช้

           การใช้ยาทาเสตียรอยด์ในความเข้มข้นสูง ใช้ผิดวิธี และ ใช้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวหน้าบาง ทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ผิวหนังชั้นแท้ได้ง่ายขึ้น และเห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น

รูปแสดงอาการข้างเคียงจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน คือ ผิวมีลักษณะเป็นตุ่มผดผื่น หน้าบางและไวต่อแสง

กรดเรติโนอิก
INCI Name : Tretinoin, Retinoic Acid, Vitamin A Acid (Brillian-VAA)

           กรดเรติโนอิก (All-Trans-Retinoic acid) ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดเอ็ม 3 (Acute promyelocytic leukemia) และมีการนำมาผลิตในรูปแบบยาใช้ภายนอกทารักษาสิว ช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

           เรตินอยด์(Retinoids) มีผลรบกวนกระบวนการสร้างเม็ดสี โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือกระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ของผิวในชั้นอิพิทีเรียล/เยื่อบุผิว (Epitherial) ลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่เซล์ลผิวหนังและยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีอีกด้วย นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์กดการสร้างและป้องกันการสร้างสิวอุดตัน (Comedone) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวทั่วไป

ผลข้างเคียงจากการใช้

           กรดเรทิโนอิกอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดดได้ง่าย อาจเกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้ชั่วคราวและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

รูปแสดงผลข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีเรตินอยด์ในปริมาณสูง ผิวหน้าแดงลอก และไวต่อแสง

รวมไปถึงสารกันเสียในเครื่องสำอาง อย่าง พาราเบน

INCI Name : Isopropylparaben , Isobutylparaben , Phenylparaben , Benzylparaben , Pentylparaben

           พาราเบน คือ สารกันเสียประเภทหนึ่ง ใส่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรีย ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีอายุการเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสารพาราเบนบางชนิดถูกห้ามไม่ให้ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง คือ Isopropylparaben , Isobutylparaben , Phenylparaben , Benzylparaben , Pentylparaben เพราะพบว่ามีส่วนทำให้เกิดการอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง รวมทั้งเป็นสารก่อมะเร็ง

           อย่างไรก็ตาม สารพาราเบนที่มี INCI Name ดังต่อไปนี้ ยังมีความปลอดภัยต่อผิวและอนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุกันเสียในเครื่องสำอางได้ตามปกติ ได้แก่ 4-Hydroxybenzoic acid , Methylparaben , Potassium Ethylparaben , Potassium Paraben , Sodium Methylparaben , Sodium Ethylparaben , Ethylparaben , Sodium Paraben , Potassium Methylparaben , Calcium Paraben , Butylparaben , Propylparaben , Sodium Propylparaben , Sodium Butylparaben , Potassium Butylparaben , Potassium Propylparaben และ Hexamidine paraben 

           นอกจากนี้สามารถสังเกตที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ ถ้ามีสัญลักษณ์คำว่า Paraben Free หรือ No Paraben จะไม่มีส่วนผสมของสารพาราเบน

บทสรุป
                ในส่วนของสารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และเรตินอยด์ นั้นจัดเป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษา สามารถใช้ได้ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน สามารถให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธีได้ สารทั้งสามนี้ห้ามนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางตามที่กระทรวงสาธารณะสุขประกาศดังนั้นหากพบเครื่องสำอางที่มีสารเหล่านี้รวมถึงปรอทเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายก็รู้ได้เลยว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ผิดกฎหมาย ไม่ควรซื้อมาใช้เด็ดขาด

                ผู้บริโภควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสถานที่จำหน่ายที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และก่อนตัดสินใจซื้อควรสังเกตุฉลากผลิตภัณฑ์ โดยฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย ระบุข้อความอันจำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและชนิดของเครื่องสาอาง เลขที่ใบรับแจ้ง(เป็นเลข  10 หลัก) สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีการใช้ ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต และคำเตือนด้วยนะคะ...

 

ที่มา

อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง

https://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/04072016-2055-th

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้